27 เมษายน 2552

ประวัติประเทศไทย

ประวัติและความเป็นมาของประเทศไทย

ประเทศไทยแต่เดิมมีชื่อว่า "ประเทศสยาม" หรือ "สยามประเทศ"
ดินแดนที่เป็นประเทศไทยส่วนใหญ่นับแต่บริเวณภาคใต้ไปจนภาคเหนือ อันเป็นเขต ป่าเขานั้น อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า กึ่งชุ่มชื้น และกึ่งแห้งแล้ง จึงเป็นบริเวณที่เหมาะสมแก่การตั้งหลักแหล่งของชุมชนมนุษย์ให้เป็นบ้านเมืองได้เกือบทั้งสิ้น
รัฐหรือแคว้นในดินแดนประเทศไทยในระยะแรกเริ่มส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณพุทธศตวรรษ ที่ 7-8 เรื่อยมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 15 การย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานจึงเลือกเฟ้นและจำกัดอยู่ในบริเวณภูมิภาคดังกล่าว ที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านเกษตรกรรมและการเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้ากว่าบริเวณอื่น ๆ ภาคอื่นซึ่งได้แก่ภาคเหนือและบริเวณอื่นที่ใกล้เคียงก็มีผู้คนอยู่เพียงแต่มีแต่เป็นชุมชนเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ เท่านั้น
กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา นับได้ว่ามีฐานะเป็นราชอาณาจักรสยามอย่างแท้จริงสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นอาณาจักรสยามอย่างแท้จริง คือมีหลักฐานทั้งด้านพระราชพงศาวดารและกฎหมายเก่าตลอดจนจารึกและลายลักษณ์อื่น ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่ามีการปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินที่รวมศูนย์แห่งอำนาจมาอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ ณ ราชธานีเพียงแห่งเดียว
นั่นก็คือ การยกเลิกการแต่งตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ เช่น พระราชโอรส พระราชนัดดา ไปปกครองเมืองสำคัญที่เรียกว่า เมืองลูกหลวง หรือหลานหลวง ตั้งแต่ก่อนออกกฎข้อบังคับให้บรรดาเจ้านายอยู่ภายในนครโดยมีการแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง ชั้นยศ ศักดิ์ และสิทธิพิเศษของแต่ละบุคคล ส่วนในเรื่องการปกครองหัวเมืองนั้น โปรดให้มีการแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองเจ้าเมือง ขุนนาง และคณะกรรมการเมืองแต่ละเมืองมีตำแหน่ง ยศ ชั้น ราชทินนาม และศักดินา ลำดับในลักษณะที่สอดคล้องกับขนาดและฐานความสำคัญของแต่ละเมือง ส่วนเมืองรองลงมาได้แก่ เมืองชั้นโท และชั้นตรี ที่มีเจ้าเมืองมียศเป็นพระยาหรือออกญาลงมา บรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ไม่มีอำนาจและสิทธิในการปกครองและการบริหารเต็มที่อย่างแต่ก่อน จะต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของเจ้าสังกัดใหญ่ในพระนครหลวง ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายทหารและพลเรือน
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 ลงมา ผู้ที่เรียกว่าชาวสยามหรือเมืองที่เรียกว่าสยามนั้น หมายถึงชาวกรุงศรีอยุธยาและราชอาณาจักรอยุธยาในลักษณะที่ให้เห็นว่าแตกต่างไปจากชาวเชียงใหม่ ชาวล้านนา ชาวรามัญ ชาวกัมพูชา ของบ้านเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ที่ตั้งของประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในทวีปเอเชียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า "คาบสมุทรอินโดจีน" ซึ่งมีความหมายมาจากการเป็นคาบสมุทรที่เชื่อมต่อ คืออยู่ระหว่างกลางของดินแดนใหญ่ 2 บริเวณ คืออินเดียทางตะวันตก และจีนทางตะวันออก โดยล้อมรอบไปด้วยเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือ พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเพื่อนบ้าน ในเขตภูมิภาคคือ เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์
ภาษา
ประเทศไทยมีภาษาของตนเองโดยเฉพาะทั้งภาษาพูดและเขียนเป็นภาษาประจำชาติ เรียกว่า "ภาษาไทย" เราไม่ทราบแน่นอนว่าภาษาไทยกำเนิดมาจากแหล่งใด แต่เมื่อพบศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 1826 เป็นต้นมา ทำให้เราสามารถทราบประวัติและวิวัฒนาการของภาษไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ภาษาไทยมีลักษณะเฉพาะตัวเป็นภาษาที่มีระดับเสียง โดยการใช้วรรณยุกต์กำกับ คือมีเสียงวรรณยุกต์ 4 รูป คือ ไม้เอก โท ตรี และจัตวา กำกับบนอักษรซึ่งปัจจุบันมีอักษรใช้ 44 ตัว แบ่งออกเป็นอักษรสูง 11 ตัว อักษรกลาง 9 ตัว และอักษรต่ำ 24 ตัว มีสระ 28 รูป ซึ่งมีเสียงสระ 32 เสียง ประกอบคำโดยนำเอาอักษรผสมกับสระวรรณคดี ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง นั้นกวีได้นำคำมารจนาให้เกิดความไพเราะเพราะพริ้งได้ ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากลักษณะของภาษาไทย นั่นเอง
เมืองหลวง
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีเนื้อที่กว้าง 1,549 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญต่าง ๆ ของชาติแต่เดิม กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นจังหวัด ๆ หนึ่งเรียกชื่อตามราชการว่า จังหวัดพระนคร ต่อมาได้รวมกับจังหวัดธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับกรุงเทพฯ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นจังหวัดเดียวกันโดยเรียกชื่อใหม่ว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335
รัฐบาลและการปกครอง
ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประเทศไทยมีการจัดระเบียบการปกครองภายในประเทศอย่างเป็นระบบ มาช้านานแล้ว ซึ่งยังผลให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่นและสามารถรักษาเอกราชมาได้จนถึงทุกวันนี้ การปกครองของไทยได้ปรับและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย และเป็นไปตามความต้องการของประเทศชาติเสมอมา ทำให้วิธีดำเนินการปกครองแต่ละสมัยแตกต่างกันไป
สมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - 1981)
การปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก ผู้ปกครองคือพระมหากษัตริย์ คำนำหน้าของ พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้นจึงใช้คำว่า "พ่อขุน"
สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 - 2310)
เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าอู่ทอง ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีเมื่อราวปี พ.ศ. 1893 คำที่ใช้เรียกพระเจ้าอู่ทองมิได้เรียก "พ่อขุน" อย่างที่เรียกกันมาครั้งสุโขทัย แต่เรียกว่า "สมเด็จ พระพุทธเจ้าอยู่หัว" พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเทวราชหรือสมมติเทพ เป็นองค์รัฐาธิปัตย์ ปกครองแผ่นดิน
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325 - 2475)
ได้นำเอาแบบอย่างการปกครองในสมัยสุโขทัย และอยุธยามาผสมกัน ฐานะของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้อยู่ในฐานะเทวราชหรือสมมติเทพดังแต่ก่อน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ถึงแม้จะปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่มีลักษณะประชาธิปไตยแฝงอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น แทรกอยู่ในการปกครองพระมหากษัตริย์ทรงให้สิทธิเสรีภาพแก่ประขาชนในการดำรงชีวิต การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการ ปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีศูนย์อำนาจการปกครองอยู่ที่ 3 สถาบันสำคัญคือ สถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจในการออกกฎหมาย สถาบันบริหารซึ่งมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และสถาบันตุลาการซึ่งมีศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่พิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธย
ศาสนา
ประเทศไทย มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยสามารถนับถือศาสนาต่าง ๆ กันได้ แต่มีผู้นับถือศาสนาพุทธกว่าร้อยละ 90 คนไทยยังนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และซิกซ์ เป็นต้น รัฐธรรมนูญของไทยและกฎหมายอื่น ๆ ให้ความคุ้มครองในเรื่องการนับถือศาสนาเป็นอันดี ไม่ได้บังคับให้ประชาชนชาวไทยนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นการเฉพาะ โดยถือว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนานิกายของศาสนา แม้ศาสนาต่าง ๆ จะมีแนวทางปฏิบัติและรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันแต่ก็มีหลักเดียวกันคือต่างมุ่งสอนให้ทุกคนประกอบความดี ละเว้นความชั่ว ทั้งนี้เพื่อความเจริญของบุคคลในทางร่างกาย และจิตใจ อันจะนำสันติสุขมาสู่สังคมส่วนรวม



ที่มา http://www.school.net.th/library/create-web/10000/history/10000-8041.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น